จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ สู่สภาองค์กรของผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๖๒

ด้วยมาตรา ๔๖ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ บัญญัติให้สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง โดยบุคคลย่อมมีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และองค์กรของผู้บริโภคนั้นมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ภายใต้พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๖๒
เมื่อคราวถือกำเนิดร่างพระราชบัญญัติฯ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองและดูแลผู้บริโภค ได้เป็นหน่วยงานหลักในการยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติหลักการ และส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาซึ่งในชั้นตรวจร่างนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณายกร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา ๔๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้นใหม่ และใช้ชื่อว่า "ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กร ของผู้บริโภค พ.ศ. ...." ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงิน และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณา ต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในคราวประชุมครั้งที่ ๑๓/๒๕๖๒ เป็นพิเศษ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. .... ในวาระที่ ๒ พิจารณาเรียงลำดับมาตรา และได้ลงมติในวาระที่ ๓ เห็นสมควรประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. .... เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๑๕๙ เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง ๓ เสียง ซึ่งการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเพียง ๑ ครั้ง คือ ในคราวประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เพื่อรับทราบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวในฐานะ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีถูกกำหนดให้ทำหน้าที่เป็น "นายทะเบียนกลาง" ตามกฎหมาย
จากบทบัญญัติของกฎหมายที่ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือผู้ซึ่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมาย ทำหน้าที่นายทะเบียนกลางในการรับแจ้งสถานะความเป็นองค์กร ของผู้บริโภคได้ทั่วราชอาณาจักรรวมถึงเป็นผู้กำหนดแบบและวิธีการในการแจ้งสถานะความเป็นองค์กร ของผู้บริโภค กับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นนายทะเบียนประจำจังหวัด มีหน้าที่รับแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภคภายในจังหวัดนั้น และเมื่อได้รับแจ้งแล้วให้ส่งรายชื่อองค์กรของผู้บริโภคให้นายทะเบียนกลางประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ตามมาตรา ๖ ประกอบมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๖๒ และโดยที่ในการกำหนดแบบและวิธีการแจ้งสถานะดังกล่าว ต้องไม่มีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง จึงได้ดำเนินการยกร่างประกาศนายทะเบียนกลาง เรื่อง การกำหนดแบบและวิธีการแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. .... เพื่อเตรียมการก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับ
ในการเตรียมการก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับดังกล่าว สำนักกฎหมายและระเบียบกลาง ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศนายทะเบียนกลาง เรื่อง การกำหนดแบบและวิธีการแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. .... จากองค์กรที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๒ และจัดโครงการประชุมสัมมนานายทะเบียนประจำจังหวัด เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. .... เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ และประกาศสถานที่รับแจ้งสถานะองค์กรของผู้บริโภค ทั่วราชอาณาจักรในเว็บไซต์ www.opm.go.th /สำนักงานกิจการองค์กรของผู้บริโภค




เมื่อพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๖๒ ประกาศในราชกิจจา-นุเบกษาในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒ และตามมาตรา ๒ แห่งพระราชบัญญัติได้กำหนดให้ใช้บังคับ เมื่อพ้นกำหนด ๖๐ วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา สำนักกฎหมายและระเบียบกลางจึงมีเวลาอีกเพียง ๖๐ วัน สำหรับการเตรียมการ และเนื่องจากในขณะนั้นสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมิได้รับงบประมาณในการดำเนินการใด ๆ ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่มีความพร้อมทั้งด้านสถานที่ เจ้าหน้าที่ และงบประมาณในการจัดทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
ต่อมา ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๒๑/๒๕๖๒ เรื่อง การจัดตั้งสำนักงานกิจการองค์กรของผู้บริโภค ลงวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ กำหนดอำนาจหน้าที่ ในการดำเนินการในฐานะหน่วยงานธุรการของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะนายทะเบียนกลาง ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคและมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบ ๓ หน่วยงาน ดังนี้
๑. สำนักกฎหมายและระเบียบกลาง เป็นหน่วยงานหลักการดำเนินงาน อำนวยการบริหารจัดการในงานของสำนักงานกิจการองค์กรของผู้บริโภค ตรวจสอบคุณสมบัติขององค์กรของผู้บริโภคให้ครบถ้วนและถูกต้อง ฯลฯ
๒. ศูนย์บริการประชาชน เป็นหน่วยงานสนับสนุนในการดำเนินการรับคำขอ และรวบรวมส่งสำนักกฎหมายและระเบียบกลางเพื่อดำเนินการต่อไป
๓. ศูนย์เทคโนโลยีและสารเทศและการสื่อสาร เป็นหน่วยงานสนับสนุนในการรับเอกสาร จากนายทะเบียนประจำจังหวัด (ผ่านระบบไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์) สำหรับสถานที่ของสำนักงานกิจการองค์กรของผู้บริโภค ตั้งอยู่ ณ อาคารสำนักงาน ก.พ. (เดิม) ในการรับแจ้งสถานะฯ