ด้วยมาตรา ๔๖
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐
บัญญัติให้สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง
โดยบุคคลย่อมมีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครอง
และพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
และองค์กรของผู้บริโภคนั้นมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ
โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ
ภายใต้พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.
๒๕๖๒
เมื่อคราวถือกำเนิดร่างพระราชบัญญัติฯ
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองและดูแลผู้บริโภค
ได้เป็นหน่วยงานหลักในการยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติหลักการ
และส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาซึ่งในชั้นตรวจร่างนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา
(คณะพิเศษ) ได้พิจารณายกร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา ๔๖
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้นใหม่ และใช้ชื่อว่า
"ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กร ของผู้บริโภค พ.ศ. ...."
ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง
อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงิน
และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณา
ต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในคราวประชุมครั้งที่
๑๓/๒๕๖๒
เป็นพิเศษ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค
พ.ศ.
.... ในวาระที่ ๒ พิจารณาเรียงลำดับมาตรา และได้ลงมติในวาระที่ ๓
เห็นสมควรประกาศให้ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค
พ.ศ. .... เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย ๑๕๙ เสียง
ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง ๓ เสียง
ซึ่งการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเพียง
๑ ครั้ง คือ ในคราวประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
เพื่อรับทราบการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวในฐานะ
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีถูกกำหนดให้ทำหน้าที่เป็น "นายทะเบียนกลาง"
ตามกฎหมาย